#ธรรมชาติ

ปลานกขุนทองแดง (Floral Wrasse)

นัท สุมนเตมีย์ เรื่องและภาพ

ในห้วงของความลึก ณ บริเวณจุดดำน้ำใกล้กับอ่าวช่องขาด บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ของการดำน้ำไล่ไปตามบริเวณพื้นทรายซึ่งอยู่ห่างออกมาจากแนวลาดชัน (Reef Slope) ของแนวปะการัง แล้วก็สอดส่ายสายตาหา Subject ที่ผ่านแวบเข้ามา

บนพื้นทรายในบริเวณชายแนวปะการังนี้มีปลาหลากหลายชนิดอาศัยอยู่และว่ายผ่านไปผ่านมา แม้ว่าอาจจะมีจำนวนน้อยกว่าในแนวปะการัง แต่การทำงานของผมด้านการถ่ายภาพมาโครนั้นค่อนข้างง่ายกว่าการไปเฝ้าถ่ายภาพบนแนวปะการัง ที่เราต้องลอยตัวให้อยู่เหนือแนวปะการัง และยังต้องคอยระมัดระวังตัวตลอดเวลา ไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรืออุปกรณ์ดำน้ำไปสัมผัสหรือสร้างความเสียหายให้กับแนวปะการังโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ

บนแนวทรายด้านนอกใกล้กับแนวปะการังนี้ เรามักจะพบปลาในกลุ่มปลานกขุนทองมากมายหลายชนิดอาศัยอยู่ปะปนไปกับปลานกแก้วและปลาในแนวปะการังชนิดอื่น ๆ

เจ้าปลานกขุนทองแดง หรือ Floral Wrasse (Cheilinus chlorourus) นี้ เป็นปลาชนิดหนึ่งที่เราพบได้ค่อนข้างบ่อยตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาไปจนถึงเฟรนช์พอลินีเชีย (French Polynesia) ในมหาสมุทรแปซิฟิก สำหรับผมและช่างภาพหลาย ๆ คน มันเป็นปลาที่หน้าตาอาจจะดูบ้าน ๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีลวดลายและสีสันสวยงามบนใบหน้า

ผมสังเกตเห็นปลานกขุนทองแดงสองตัวนี้ว่ายเข้ามาแล้วกางครีบขู่กันอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะว่ายเข้ามาไล่กัดกัน และเมื่อเราขยับเข้าไปใกล้ ปลาทั้งสองตัวก็จะแยกออกจากกันทันที ผมใช้เวลาเฝ้ารออยู่เกือบทั้งไดฟ์ ก่อนที่ปลาทั้งสองตัวจะค่อย ๆ ว่ายเข้ามา แล้วก็ไล่กัดกันอีกหลายครั้งหลายหน

พฤติกรรมการปกป้องอาณาเขตของปลาชนิดต่าง ๆ นี้ ถือเป็นพฤติกรรมค่อนข้างจะปกติในธรรมชาติของปลาตัวผู้ชนิดต่าง ๆ

ดร.ยูจีนี คลาร์ก (Eugenie Clark) ผู้ล่วงลับไปแล้ว เคยอธิบายให้ผมฟังว่า ปลาตัวผู้ส่วนใหญ่มักจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวกับปลาชนิดเดียวกันมากกว่าปลาต่างสายพันธุ์กัน เพราะว่าปลาชนิดเดียวกันนั้นมักมีอาณาเขตของตนเอง โดยมีแหล่งอาหารและกลุ่มปลาตัวเมียที่อาศัยอยู่กันเป็นฮาเร็มของตนเอง เมื่อมีปลาตัวผู้ตัวอื่นเข้ามาในบริเวณอาณาเขตของตน ก็จะเกิดการอวดโฉมด้วยการกางครีบหางออกเพื่อท้าทายปลาตัวผู้ตัวอื่นในบริเวณนั้น และเมื่อมีเรื่องกัน ก็จะว่ายน้ำไล่กัดครีบกัดหางปลาตัวผู้ที่เข้ามาท้าทายเพื่อปกปักรักษาอาณาบริเวณของมัน ปลาตัวที่ชนะก็จะได้ครอบครองพื้นที่นั้น ส่วนปลาตัวที่แพ้ก็จะต้องว่ายออกไปท้าทายปลาตัวอื่นอีกต่อไป

บางทีเรื่องราวของปลากับเรื่องราวของผู้คนนั้น ก็อาจมีหลักใหญ่ใจความที่ไม่แตกต่างกัน อาจจะมีเพียงรายละเอียดของชีวิตบางอย่างแตกต่างกันไปเท่านั้นเอง

18/06/67 เวลา 09:32 น.