#แวะชมสมบัติศิลป์ ปราชญ์น่านผู้ยังคงเขียน “ตั๋วเมือง” “แรมชเล” เรื่อง ศรุต ทัพพเศวต ภาพ ไล่มองขึ้นไปที่ดวงตาอ่อนโยนแต่แน่วแน่ชายคนนั้นยังคงมุ่งมั่นกับ “อักษรธรรม” ในศาสตร์และศิลป์ของล้านนา ก่อนที่หมึกบนผืนผ้าดิบจะแห้งสนิท เขาวางพู่กันลง หันขึ้นมายิ้ม และมองไปยังผู้มาเยือนหลายคน “ตั๋วเมือง” คือตัวอักษรล้านนาที่ถ่ายทอดทั้งประวัติศาสตร์ องค์วิชาความรู้ และการเติบโตของผู้คน ไล่เลยไปถึงจิตวิญญาณของอดีต การที่ใครสักคนจะเข้าใจมันถ่องแท้ คงต้องผ่านการศึกษาและทำความเข้าใจในมิติต่าง ๆ ที่สืบสานผ่านอดีตโดยมีพระพุทธศาสนาเป็นเหมือนสะพานชี้นำ “ตั๋วเมืองมันเก็บงำทั้งภาพอดีต ความรู้และสรรพวิทยาการต่าง ๆ มาคู่กับบ้านเมืองล้านนาอย่างน้อยก็ 700 กว่าปีแล้ว” สล่าบุญโชติ สลีอ่อน ผู้เป็นปราชญ์พื้นบ้านที่เชี่ยวชาญการเขียนตั๋วเมืองพูดถึงอักษรโบราณที่ท่านใช้เวลาเพียรศึกษา หัดอ่านหัดเขียนมาเกือบทั้งชีวิต ลึกลงไป ก่อนอักษรไทยจะกลายเป็นภาษาราชการ ตัวอักษรล้านนาถูกใช้จารจารึกในพื้นที่ภาคเหนือมาเนิ่นนาน ผู้เชี่ยวชาญอักษรไทยโบราณอย่างศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์ส กล่าวไว้ในตำราอักษรไทยว่า อักษรล้านนามีที่มาจากอักษรมอญเช่นเดียวกับอักษรพม่า อักษรไทใหญ่ อักษรไทลื้อ อักษรไทเขิน ฯลฯ ซึ่งการมาถึงของพระพุทธศาสนานั่นเองที่นำพาการผสมผสานและการเติบโตทางภาษาศาสตร์มาสู่ผู้คนสุวรรณภูมิ “ส่วนใหญ่ตั๋วเมืองจะใช้ในศิลาจารึก ปั๊บสา (กระดาษสาพับ) คัมภีร์ใบลาน หรือตำรายาต่าง ๆ ผู้ชายน่ะเป็นฝ่ายเขียนได้ สืบต่อกันมา ส่วนผู้หญิงนั้นมีความสำคัญในการทอผ้าห่อคัมภีร์” สล่าบุญโชติเปลี่ยนมาปั้นขี้เลื่อยที่ผสมกาวจนปั้นได้เป็นเส้น ค่อย ๆ บีบคลึงลงบนแป้นไม้ให้ใครสักคนได้ลองทำเป็นอักษรสักตัว แต่เดิมใครจะสอนการเขียนตั๋วธรรมได้ ต้องมีความรู้มีภูมิปัญญา มีศีล เห็นได้จากตุ๊เจ้าที่ขึ้นธรรมาสน์ ศึกษาธรรมผ่านอักษรล้านนาจนลึกซึ้งในธรรมหมอยาก็อีก จารจารึกตัวอักษรเก่าแก่ไว้ในตำรายา ปั๊บสา สืบต่อความรู้ผ่านตัวอักษรและจารีตดีงาม ว่ากันว่า ช่างเขียนตั๋วธรรมที่ชำนาญมักจะใช้ลักษณะเด่นของภาษาล้านนาที่เขียนได้ทั้งเต็มรูป ลดรูป หรือใช้สัญลักษณ์แทน มีการรวมคำ สร้างเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา“คนเชี่ยวชาญจะสื่อสารความรู้ต่าง ๆ ไว้ในการเขียนตั๋วเมืองของตน พวกตำรับยา ยันต์ต่าง ๆ ”สล่าบุญโชติเองหลงเสน่ห์ของตั๋วเมืองในคัมภีร์จากการเจออักษรกระจัดกระจายอยู่ในหีบธรรมครั้งยังเขียนจิตรกรรมฝาผนังตามโบสถ์วิหารในเมืองน่าน หลังศึกษาจนชำนาญ การอยากอนุรักษ์และสานต่อสู่คนรุ่นใหม่จึงเกิดเป็นกิจกรรมน่ารักที่สร้างสรรค์อยู่ในบ้านเลขที่ 9 แถบชุมชนในเวียงกลางเมืองน่าน ตั๋วเมืองถูกสื่อสารอย่างเข้าถึงง่าย สล่าบุญโชติเปิดบ้านให้คนเข้ามา “ปั้นแต่งตั๋วเมือง” เขียนอักษรลงย่าม ใส่ชื่อตัวเอง หรือคำที่ชอบ โดยถอดเป็นอักษรล้านนาให้ มากไปกว่าได้เรียนรู้มรดกล้ำค่า ที่บ่งบอกตัวตนคนเหนือ ยังได้สืบสานและอนุรักษ์รากเหง้าหนึ่งของล้านนาไม่ให้เลือนหายตายสูญ “เขียน อ่าน หรือผสมอักษร กว่าจะทำได้มันใช้เวลานานมาก แต่การสร้างความประทับใจ และให้คนตระหนักเห็นคุณค่านั้นทำได้ง่ายและสั้นกว่า” ระหว่างมือจับพู่กัน จุ่มหมึกและจรดลงบนผ้าดิบ เราเห็นการมีอยู่ของอักษรล้านนาเก่าแก่ ควบคู่ไปกับโลกปัจจุบันที่หมุนเปลี่ยนอยู่นอกประตูบ้านเลขที่ 9 ไม่มีใครคาดเดาวันพรุ่งได้ว่า มันจะย่อยสลายสิ่งใดลงไปบ้าง แต่กับสล่าเมืองน่านคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตง่ายงามอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับพุทธศาสนาดูเหมือนอักษรโบราณยังคงทำหน้าที่ของมันทั้งยังได้รับการทะนุถนอมและสื่อสารผ่านดวงตาสองมือ และจิตใจของใครคนหนึ่งอย่างแน่วแน่ Post Views: 510 16/10/66 เวลา 05:30 น. บทความที่เกี่ยวข้อง ตระการตาจิตรกรรม “ฝ้า” ผนัง วัดประดู่ พระอารามหลวง เมืองแม่กลอง จิตรกรรมบนผนังเพดานศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดประดู่ฯ นั้นเป็นจิตรกรรมไทยประเพณี วาดด้วยสีฝุ่น ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ว่าเขียนขึ้นในสมัยไหน พระพิมพ์ พุทธศิลป์ถิ่นสุโขทัย คติความเชื่อในการสร้างพระสุโขทัยเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ตามหลักความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด การสร้างพระจึงถือเป็นการสร้างบุญบารมีอย่างหนึ่ง ท่องเที่ยวจักรวาลในวัดโบราณล้านนา สมัยนี้ที่ผ่านมาเราคงจะได้ยินว่าในต่างประเทศเริ่มมีการออกไปทัศนาจรในอวกาศกันแล้ว และมีแนวโน้มว่าต่อไปอาจจะมีการท่องเที่ยวจักรวาลกันในอนาคตอันใกล้