#แวะชมสมบัติศิลป์ วาดสี เขียนลาย งามวิจิตรประณีตศิลป์เบญจรงค์ อรกานต์ จามรมาน เรื่อง ชื่นจิตต์ เจริญจิตต์ ภาพ ปลายพู่กันอิ่มสีถูกจดจรดลงบนภาชนะสีขาว แต้มเติมสีสันทีละน้อยตามลวดลายโบราณที่ช่างได้เดินเส้นไว้ก่อนหน้า บางลายนั้นถูกเขียนด้วยเส้นสีแดง บางลายถูกเขียนด้วยเส้นสีขาว และบางลายก็ถูกเขียนด้วยเส้นสีดำ “ภาชนะลายเขียนสีเราเรียกว่าเบญจรงค์ ถ้าแปลตามตัวตรง ๆ ก็คือ ‘ห้าสี’ อันได้แก่ แดง เหลือง น้ำเงินหรือเขียว ขาว และดำ ซึ่งเป็นแม่สีที่เราใช้เขียนลงบนภาชนะสีขาว แต่จริง ๆ แล้วเบญจรงค์จะมีมากหรือน้อยกว่าห้าสีก็ได้ ส่วนสีสำหรับการเดินเส้นจะใช้เพียงสามสี คือแดง ขาว แล้วก็ดำอย่างที่เห็นนี่ล่ะ” พี่สรัญญา สายสิริ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 ผู้สืบทอดปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ของคุณปู่วิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ เล่าให้เราฟัง และอธิบายต่อว่าเบญจรงค์ใช้เทคนิคการเขียนลายบนเคลือบ ทำให้เมื่อเผาแล้วยังคงความนูนของสีบนพื้นผิวภาชนะ ต่างกับเครื่องลายครามซึ่งมีพื้นผิวเรียบเพราะใช้เทคนิคการเขียนลายใต้เคลือบ ภาชนะที่วิจิตรบรรจงด้วยลวดลายและสีสันชนิดนี้ไม่ปรากฏลายลักษณ์อักษรชี้ชัดว่ามีมาแต่เมื่อใด หากแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นช่วงอยุธยาตอนปลาย ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จากความต้องการสั่งผลิตเครื่องเคลือบมาใช้ในวัง จึงส่งผ้าปักลายไทย เช่น ลายเทพนม ลายนรสิงห์ ลายครุฑ ล่องสำเภาไปให้ช่างชาวจีนซึ่งมีทักษะในการผลิตเครื่องลายครามอยู่แล้ว ผลิตเป็นเครื่องเบญจรงค์ซึ่งเขียนด้วยลายไทย “ช่างจีนไม่เคยเห็นลายไทยมาก่อน ก็เขียนลายไปตามจินตนาการตัวเองด้วย เบญจรงค์ลายโบราณจริง ๆ มันเลยมีกลิ่นอายลายเส้นจีนผสมอยู่” เธอเล่าพร้อมกับหยิบเบญจรงค์ลายเทพนมที่หน้าตาเหมือนอาตี๋ในเครื่องทรงที่ละม้ายคล้ายแม่ทัพจีน ซึ่งเป็นการเขียนลายและใช้สีเลียนแบบลวดลายโบราณอันเป็นเอกลักษณ์ของปิ่นสุวรรณเบญจรงค์มาให้เราดู “เบญจรงค์โบราณสีจะไม่ฉูดฉาด เวลาเราผสมสีก็จะต้องเทสต์ให้เข้าใกล้กับสีโบราณที่สุด” เธอกล่าว และว่าเบญจรงค์โบราณมีเทคนิคการเขียนสีเขียนลายที่ต่างกันตามยุคสมัย ซึ่งได้สอดแทรกบริบทสังคมในสมัยนั้น ๆ เอาไว้ด้วย อย่างเช่น เบญจรงค์สมัยอยุธยามักจะเขียนด้วยสีล้วน จำนวนสีที่ใช้ก็ไม่มากนัก ด้วยในสมัยนั้นความหลากหลายของสีมีไม่มากอย่างปัจจุบัน หรือเบญจรงค์ชุดลายวิไชเยนทร์ซึ่งเขียนลายเป็นใบหน้าชาวฝรั่งตามเชื้อชาติของผู้สั่งทำ ซึ่งก็คือเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ หรือคอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางชาวกรีกในสมัยพระนารายณ์ คล้ายเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่าในสมัยนั้นมีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยในแผ่นดินอยุธยาแล้ว ส่วนเบญจรงค์ในยุครัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่บ้านเมืองว่างเว้นจากศึกสงคราม ศิลปะมีความเฟื่องฟู จึงมักจะมีการเขียนลายด้วยน้ำทอง ประดับตกแต่งด้วยเพชรพลอยบ้าง งานกะไหล่ทองบ้าง สะท้อนถึงสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง “ลวดลายในเบญจรงค์ไม่ตายตัว ลายพื้นฐานก็มักจะเป็นลายประจำยาม ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายก้านแย่ง แต่ก็แล้วแต่จินตนาการของช่างว่าจะผูกลายอะไรเข้ากับอะไร หลาย ๆ ลายมาจากธรรมชาติรอบตัว เช่น ดอกไม้ ผีเสื้อ นก” เบญจรงค์ชิ้นหนึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาให้เราดู และพลันสังเกตได้ว่าเนื้อของภาชนะนั้นคล้ายกับจะโปร่งแสง “เบญจรงค์มีหลายเกรด ที่โปร่งแสงนี้คือทำจากดินเนื้อโบนไชน่า เป็นดินที่ผสมกระดูกสัตว์ มีคุณสมบัติเบา เหนียว และโปร่งแสง ดินนี้ต้องนำเข้ามาก็จะแพงหน่อย” เธอกล่าว และว่าด้วยราคาที่ค่อยข้างสูงของเบญจรงค์ กอปรกับความหรูหราของลวดลายจึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมในการใช้งานทั่วไป การจะอนุรักษ์งานแขนงนี้ไว้จึงต้องปรับรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เธอจึงได้ก่อกำเนิดแบรนด์ “เบญจกลาย” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เบญจรงค์ได้กลายเป็นอะไรก็ได้ตามแต่ใจของผู้เป็นศิลปินจะสร้างสรรค์ “เรายังคงทำเบญจรงค์ ยังคงใช้เทคนิคเดิมที่คุณปู่ทำมา เพียงแต่ภายใต้แบรนด์เบญจกลายเราจะปรับรูปแบบ โดยนำเบญจรงค์ที่ไม่ผ่านคิวซีมาทุบแล้วเลือกส่วนไปทำเป็นเครื่องประดับ หรือปั้นขึ้นมาใหม่เลยแต่ก็ยังใช้เทคนิคการลงสีแบบโบราณอยู่” เครื่องประดับหลากหลายชนิดที่เรียงรายอยู่ตรงหน้านี้ราวกับกำลังจะบอกเราว่า ลมหายใจของเบญจรงค์จะยังคงอยู่คู่กับกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน ตราบเท่าที่ความสร้างสรรค์ของสายเลือดศิลปินยังไม่เหือดหาย ปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ เลขที่ 32/1 หมู่ 7 ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110 โทรศัพท์ 0 3475 1322 และ 06 2449 2651 เฟซบุ๊ก : Pinsuwan Benjarong และ BenjaGlai By Pinsuwan Benjarong กิจกรรมเวิร์กช็อปเขียนลายเบญจรงค์เริ่มต้น 800 บาท (กรุณานัดหมายล่วงหน้า) Post Views: 1,081 9/03/66 เวลา 13:33 น. บทความที่เกี่ยวข้อง ท่องเที่ยวจักรวาลในวัดโบราณล้านนา สมัยนี้ที่ผ่านมาเราคงจะได้ยินว่าในต่างประเทศเริ่มมีการออกไปทัศนาจรในอวกาศกันแล้ว และมีแนวโน้มว่าต่อไปอาจจะมีการท่องเที่ยวจักรวาลกันในอนาคตอันใกล้ กู่พระเจ้าล้านทองวัดน้ำลัด อลังการแห่งสมบัติล้านนาที่ซ่อนเร้น แสงแดดสาดส่องวิหารวัดน้ำลัดจนมลังเมลือง แลดูเป็นสีทองตระการตา หลังจากม่านหมอกขาวที่ห่มคลุมในช่วงเช้าจางหายไปตามความสูงของดวงอาทิตย์ ปราชญ์น่านผู้ยังคงเขียน “ตั๋วเมือง” ไล่มองขึ้นไปที่ดวงตาอ่อนโยนแต่แน่วแน่ชายคนนั้นยังคงมุ่งมั่นกับ “อักษรธรรม” ในศาสตร์และศิลป์ของล้านนา ก่อนที่หมึกบนผืนผ้าดิบจะแห้งสนิท เขาวางพู่กันลง หันขึ้นมายิ้ม และมองไปยังผู้มาเยือนหลายคน