#แวะชมสมบัติศิลป์

ศิลปะมนุษย์ยุคหินที่เขาปลาร้า

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว เรื่องและภาพ

         เมื่อราว 40-50 ปีก่อน การ์ตูนอเมริกันที่เด็กน้อยรุ่นดิฉันชอบกันมาก ๆ คือเรื่องของมนุษย์หินฟลินต์สโตน อันชวนประทับใจกับครอบครัวหนุ่มสาว เด็กน้อย สาวน้อยนุ่งหนังสัตว์ ถือขวานหิน มีไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน

ได้ดู ได้จำ ได้เฮฮาสนุกสนานมาตั้งแต่วันวาน และตั้งใจสุด ๆ ว่า มีภาพเขียนสีมนุษย์ยุคหินในเมืองไทยที่ไหน ดิฉันจะพยายามตามไปดูให้ได้ ถึงจะปีนเขา บุกป่า บุกถ้ำ สูงแค่ไหน ไกลแค่ไหน ตราบเท่าที่ยังมีแรง ดิฉันจะต้องตามไปดูศิลปะมนุษย์ยุคหิน

         แล้วก็ได้สมหวังดั่งใจ ไปดูมาหลายแห่ง ทั้งภูผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ถ้ำผีหัวโต อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ จนเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 ก่อนไวรัสโควิด-19 บุกประเทศไทย ดิฉันก็สบโอกาสบุกป่าปีนเขา ชนิดเหนื่อยหมดแรง เข่าทรุด ตะกายภูผา ขึ้นเขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี ไปดูภาพเขียนสี Cave Art ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในเมืองไทยได้อย่างตื่นตาตื่นใจ

         จะไม่เล่าหรอกนะว่าดิฉันลากสังขารขึ้นเขาปลาร้าไปอย่างลำบากลำบนแค่ไหน มาว่ากันเนื้อ ๆ ถึงศิลปะถ้ำ ภาพเขียนสีที่เขาปลาร้ากันเลยดีกว่า

ภาพเขียนสีที่เขาปลาร้ามีอยู่ประมาณ 40 ภาพ เขียนไว้บนเพิงหินของถ้ำประทุนบนไหล่เขา สูงจากพื้นดินราว 320 เมตร มีทั้งภาพคน หมา วัวกระทิง กวาง ไก่ เต่า กบ ทั้งหมดเขียนด้วยสีแดง สีแดงเข้ม บางส่วนลากเส้นสีดำเหมือนจะร่างภาพไว้

         เมื่อราว 30 กว่าปีก่อน ครั้งที่ดิฉันได้เข้าเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ ครูที่รักยิ่งได้ให้ความรู้ เป็นข้อมูลที่ดิฉันบันทึกไว้ในสมุดเล็กเชอร์ที่เก็บงำยาวนานมาถึงวันนี้ ดังที่อาจารย์พิริยะบอกไว้ว่า ภาพเขียนสีที่เขาปลาร้านี้มีอายุประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้ว (200 ปีก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ. 100) เพราะเขียนภาพคนตกแต่งศีรษะด้วยขนนก อันนี้แหละทำให้กำหนดอายุได้ ถ้าไม่มีหัวคนเสียบขนนกแฟชั่นยอดนิยมยุคนั้นอยู่ในภาพเขียน จะกำหนดอายุลำบาก หากการมีขนนกอยู่บนหัวคนในภาพ บ่งชี้ว่าร่วมสมัยกับวัฒนธรรมดองซอนในเวียดนาม (200 ปีก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ. 43) เพราะกลองมโหระทึกอายุ 2,000 กว่าปีซึ่งพบในเมืองดองซอน มีลวดลายคนตกแต่งศีรษะด้วยขนนกเช่นเดียวกันนี้

         เรื่องโดดเด่นมาก ๆ ก็คือ การเขียนรูปบนเขาปลาร้าเป็นการเขียนแบบเอกซเรย์ คือเขียนทะลุให้เห็นโครงร่าง กระดูกเป็นซี่ ๆ ไส้พุงภายใน ประเด็นนี้ รองศาสตราจารย์พิริยะกล่าวว่า เป็นเรื่องของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ทุกแห่งในโลกนิยมกัน มีการเขียนภาพแบบเอกซเรย์อยู่ทุกพื้นที่ในโลก อันนี้เป็นเรื่องระดับความคิด ระดับพัฒนาการภูมิปัญญาของมนุษย์ก่อนเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) คนในขั้นหนึ่งของวัฒนธรรมจะคิดจะมีโลกทัศน์คล้าย ๆ กัน เวลาไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ภาพแบบเอกซเรย์จะเอามากำหนดอายุเวลาของภาพเขียนไม่ได้ เพราะในยุโรปที่มีภาพเขียนสีแบบเอกซเรย์เช่นนี้ ภาพเหล่านั้นมีอายุเป็นหมื่น ๆ ปีมาแล้ว ส่วนในไทยเพิ่งมาเขียนกันไม่กี่พันปี และภาพคนที่เขาปลาร้านี้ แต่ละคนยังมีขนาดไม่เท่ากัน หัวหน้าตัวโต ลูกน้องตัวเล็ก คนขนาดใหญ่มีตำแหน่งทางสังคมสูงกว่า

         การใช้สเกลส่วนสัดในภาพบ่งบอกตำแหน่งทางสังคมเป็นโลกทัศน์ภูมิปัญญาของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ยุคเริ่มพัฒนา อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ ภาพชุดนี้ยังมีภาพคนเลี้ยงหมา ซึ่งบ่งชี้ว่าเข้าสู่สังคมเลี้ยงสัตว์ ไม่ใช่ล่าสัตว์อย่างเดียว เป็นสังคมที่มีพัฒนาการขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว

         แต่เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ครั้งที่ดิฉันเริ่มไปเรียนรู้เกี่ยวกับพุทธศิลป์และสมาธิภาวนากับอาจารย์โกวิท เขมานันทะ ดิฉันได้เคยถามอาจารย์ในเรื่องภาพเขียนสีแบบเอกซเรย์ในไทยที่เขาปลาร้า ถ้ำผีหัวโต อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ กับบรรดาภาพเขียนสีบนหิน เพิงผา สไตล์เอกซเรย์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในฝรั่งเศส สเปน แอฟริกาใต้ ซาอุดิอาระเบีย เม็กซิโก เมโสอเมริกา ออสเตรเลีย ที่แต่ละแห่งเขียนในอายุเวลาต่างกันมาก เป็นหมื่น ๆ ปี สืบเนื่องเรื่อยมา จนแม้กระทั่งชนพื้นเมืองอะบอริจินส์ในออสเตรเลียก็เถอะ เขาเขียนกันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ก่อนประวัติศาสตร์ มาถึงปัจจุบันพวกอะบอริจินส์ก็ยังเขียนภาพแบบเอกซเรย์ตามแผ่นหิน หรือวัตถุสมัยใหม่ อยู่เช่นเดิม ทั้งที่อะบอริจินส์ก็อยู่ในสังคมเมืองที่มีพัฒนาการก้าวหน้าไปมาก ๆ แล้ว สภาพเช่นนี้หมายความว่าอะไร ?

         อาจารย์โกวิท เขมานันทะ ให้คำตอบที่ดิฉันจำได้แม่นยำขึ้นใจมาตั้งแต่เกือบ 20 ปีก่อน “ผมเชื่อ คนยุคก่อนประวัติศาสตร์หรือพวกชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกที่เขียนภาพแบบเอกซเรย์เป็นโครงร่างภายในนั้น เขาได้ปฏิบัติภาวนาอย่างเข้มข้นจนได้ปัญญาญาณ ได้เห็นภาพนิมิตของโครงร่างกระดูก แล้วจึงถ่ายทอดนิมิตนั้นออกมา”

         มาภายหลังดิฉันได้ทำภาวนา ได้ศึกษาเรื่องวิปัสสนาญาณ ก็พบว่า การภาวนาจนได้ญาณในวิปัสสนา ได้ความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง ในการประจักษ์ถึงญาณขั้นที่ 3 คือภะยะตุปัฏฐานะญาณ (Knowledge of the Appearance as Terror) นั้น จะแจ้งชัดถึงอาการแตกสลายอันมีทั่วไปในทุกสิ่ง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงดับอยู่เสมอ เมื่อเห็นลึกซึ้งในความแตกดับอยู่ทุกขณะจิต ก็เกิดสภาพสะดุ้งหวาดกลัวขึ้นในใจอย่างที่สุด มองเห็นสังขารและทุกสรรพสิ่งพังทลายดับสิ้นลงไปตรงหน้า นั้นทำให้ประจักษ์เห็นคน เห็นสัตว์ มีโครงกระดูกปรากฏพรวดเป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นมา

         นี้เองคือสิ่งที่อาจารย์เขมานันทะได้ถ่ายทอดให้ดิฉันรับรู้ไว้ว่า เบื้องหลังภาพเขียนสีแบบเอกซเรย์ที่เขียนกันทั่วโลกตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มากระทั่งปัจจุบันในวิถีของชนพื้นเมืองออสเตรเลียมีที่มาเช่นใด

         ไม่กี่วันก่อน ดิฉันได้ไลน์ถามไปยังนายชิ้ง-คุณพิเชษฐ์ วนวิทย์ เพื่อนจิตรกรที่รัก ที่เคยแปลงานวัชรยานตันตระมาแล้วหลายเล่มว่า “ดูภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ แบบเอกซเรย์ที่เขาปลาร้าแล้ว-ศิลปินมองเห็นอะไรบ้างหนอ ?”

ชิ้งตอบมาสั้นมาก แต่ชัดยิ่ง ๆ คือ “ เราว่าเขารู้สึกหวาดกลัวลึก ๆ”

         ในประเด็นของพวกอะบอริจินส์ที่ยังทำภาพเขียนสีแบบเอกซเรย์มาถึงปัจจุบันนี้นั้น ดิฉันดูแล้วมีความเห็นว่า ที่มาของการทำงานศิลปะประเภทนี้ต่อเนื่องยาวนาน คงจะเป็นไปในแนวทางที่แม่มดฝรั่งครูของดิฉัน-คุณโดโรธี แมคลีน ได้เคยบอกกล่าวไว้ว่า สำหรับโลกยุคปัจจุบัน ชนเผ่าอะบอริจินส์ยังคงมีความสามารถสูงมาก ๆ ในการใช้จิตหยั่งถึงโดยตรง (Intuition) เพื่อติดต่อและเข้าถึงภูมิปัญญาทางด้านต่าง ๆ

         ยังมีการนำเสนอแนวคิดในเรื่องที่มาและความหมายของภาพเขียนสีแบบเอกซเรย์ของปรมาจารย์นักโบราณคดีฝรั่งชั้นนำจากประเทศแอฟริกาใต้ยุคนี้ ที่แหวกแนวคิดของนักโบราณคดีและนักมานุษยวิทยาตะวันตกอย่างสิ้นเชิง แต่ได้ให้ความหมายอันน่าสนใจยิ่ง ศาสตราจารย์เจมส์ เดวิด ลิวอิส-วิลเลียมส์ (Professor James David Lewis-Williams เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2477) ท่านมีผลงานโดดเด่นระดับโลก ได้รับรางวัลมากมายในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปะตามถ้ำและเพิงผา ท่านเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม ดังเช่น The Mind in the Cave: Consciousness and the Origins of Art. (2545), Inside the Neolithic Mind: Consciousness, Cosmos, and the Realm of the Gods. (2548) โดยศาสตราจารย์เจมส์ เดวิด ลิวอิส-วิลเลียมส์ กล่าวว่า ภาพเขียนสีแบบเอกซเรย์ที่ปรากฏอยู่ในเพิงหินเหล่านั้น ทำขึ้นโดยหมอผีมนุษย์โครมันยอง ในสังคมล่าสัตว์ก่อนประวัติศาสตร์ พวกหมอผีจะเข้าไปในส่วนลึกมืดของถ้ำ เพื่อปฏิบัติภาวนาจนจิตเข้าสู่กาลภวังค์ เห็นนิมิต แล้วถ่ายทอดเป็นงานศิลปะภาพเขียนสีออกมา

         แนวคิดของศาสตราจารย์เจมส์ เดวิด ลิวอิส-วิลเลียมส์ กับท่านอาจารย์เขมานันทะ แม้จะอยู่คนละมุมโลก แต่ก็ใกล้เคียง สอดคล้อง แจ้งชัดในเรื่องของนิมิตและการถ่ายทอดนิมิตออกมาเป็นงานศิลปะได้เช่นเดียวกัน

         เบื้องหลังภาพเขียนสีแบบเอกซเรย์ของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เขาปลาร้า อันมีคำอธิบายถึงที่มาโดยปรมาจารย์นักโบราณคดีระดับโลกและคุรุทางพุทธศิลป์วิปัสสนาจารย์เมืองไทยอย่างสอดคล้องกันว่า เกิดจากการภาวนาจนได้นิมิต นำสู่การสร้างงานศิลปะ

         การได้ขึ้นไปถึงเพิงผาบนเขาปลาร้า ได้เห็นภาพเขียนผนังถ้ำ ดิฉันอิ่มใจจนน้ำตารื้น ภาพที่ได้เห็นอัศจรรย์สุด พลังงานรอบ ๆ ยังแรง หมุนวนรายรอบ ชัดแจ่มมาก

ดิฉันดูแล้วดูอีก เวียนถ่ายรูปเต็มอยาก เต็มกำลังที่ทำได้ สิ่งที่พบจากภาพเขียนเขาปลาร้า และอยู่ในอาณาบริเวณเพิงผาศักดิ์สิทธิ์ ดูจะเกินคุ้มกับการขึ้นเขาตรากตรำครั้งนี้ เพราะภาพที่เห็นอัศจรรย์ ลึกลับ รอบบริเวณพลังงานสะอาดมาก ใสสว่าง ท่ามกลางใบไม้ไหวกรูกราวรอบตัว

เป็นวาระวิเศษ งดงาม ในการสัมผัสผลงานมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อหลายพันปีก่อนอย่างแจ่มชัด อิ่มใจในกระแสพลังที่หมุนวนอยู่รายรอบตัว

นับเป็นวาระอันประเสริฐอย่างยิ่ง กับการได้บุกป่า ปีนเขาขึ้นไปชมภาพเขียนสีที่เขาปลาร้า

9/03/66 เวลา 08:04 น.