#แวะชมสมบัติศิลป์ จากธรรมชาติสู่ “สีธรรมชาติ” ปิยะวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ เรื่อง สุรพล สุภาวัฒนกุล ภาพ ในยุคสมัยที่ผู้คนโหยหาธรรมชาติ สิ่งที่เป็น “ธรรมชาติ” จึงเป็นความต้องการของหลากหลายกลุ่มคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เดินทางท่องเที่ยว การเข้าตัวเองไปอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ การสร้างธรรมชาติให้แวดล้อมตัวเองล้วนเกิดขึ้นมากมายและมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงช่วงที่มีการระบาดของโรคร้ายแรงอย่างโควิด-19 ในปัจจุบัน “บ้านไร่ไม้งาม” เป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีการสร้างธรรมชาติล้อมบ้าน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้นแทนที่พื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีในดิน ทำให้ต้องแกล้งดิน พลิกฟื้นเปลี่ยนผืนดิน ขุดคลองเชื่อมแม่น้ำ ปลูกต้นไม้ เกิดเป็นการสร้างปอดให้กับชุมชนตามแนวทางของท่านพุทธทาส ที่ดินซึ่งเคยแห้งแล้ง ปัจจุบันเต็มไปด้วยพืชพรรณน้อยใหญ่ สมุนไพร ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ จนพื้นที่รอบบ้านเกิดความชุ่มเย็น เป็นที่พำนักยามเกษียณ ในพื้นที่ชุ่มด้วยพรรณไม้ มีคำถามเกิดขึ้นว่า “ก่อนที่จะนำใบไม้มาทำปุ๋ย จะนำใบไม้มาใช้ประโยชน์อะไรได้อีก” ใครสักคนจึงมีความต้องการ “ถ่ายสีธรรมชาติ” จากใบไม้ที่ล้อมรอบตัว เกิดการศึกษา การทดลองถ่ายสีที่ได้จากใบไม้ จากองค์ความรู้การพิมพ์สีธรรมชาติของประเทศทางยุโรป ดร.ทิพาพร พิมพิสุทธิ์ ใช้เวลา 4 ปีในการทดลองนำใบไม้ที่มีอยู่รอบตัวมา “ถ่ายสี” ลงบนผืนผ้า เริ่มจากการทำให้ใบไม้มีคุณสมบัติเป็นกรด เช่น การแช่ในน้ำสนิม (น้ำสนิมที่ได้จากการนำตะปูมาแช่ในน้ำหรือน้ำส้มสายชูให้เกิดสนิม) เมื่อใบไม้เป็นกรด ก็จะเกิดสี ผ้าที่จะรับการถ่ายสีจึงต้องทำให้เกิดการ “รับสี” คือสร้างความเป็นด่าง โดยการนำผ้าที่ซักตากสะอาดแล้วมาแช่ในน้ำขี้เถ้า หรือในน้ำสารส้ม หรือในน้ำถั่วเหลือง เมื่อแช่ใบไม้ในน้ำสนิมประมาณครึ่งชั่วโมง วางทิ้งไว้ให้หมาด ถึงเวลาของการเริ่มต้นที่ใบไม้จะเกิดการถ่ายสี นำใบไม้มาจัดวางลงบนผืนผ้าที่แช่ในน้ำที่จัดเตรียมไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ปิดผืนผ้าไว้ด้วยพลาสติกใสเพื่อไม่ให้เกิดการปะปน ม้วนผ้าและพลาสติก มัดด้วยเชือก นำไปต้มหรือนึ่งประมาณ 1-2 ชั่วโมง ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน เมื่อแกะม้วนผ้าและนำใบไม้ออกแล้ว นำผ้าไปซักล้างให้สะอาด สีใบไม้ที่ถ่ายลงบนผ้าจะไม่ใช่สีเดียวกันกับสีใบไม้ที่เราเห็น ยกตัวอย่าง เช่น ใบไม้สีทอง ให้สีเทา เหลือง ใบเพกา ให้สีเหลืองส้ม ใบสบู่แดง ให้สีเขียว ดีปลากั้ง ให้สีเขียว ใบตะขบ ให้สีเหลืองใบสัก ให้สีม่วงชมพู เป็นต้น กระบวนการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี ใช้สารจากธรรมชาติที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ขี้เถ้า เกลือ สารส้ม ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ และดอกไม้นานาพรรณที่ปลูกไว้รอบบ้าน ในไร่ ในสวน ตามป่าเขาลำเนาไพร ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนในกระบวนการที่ละเอียดอ่อน มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในแต่ละผืน แต่ละชิ้นงาน โดยเฉพาะเมื่อมาเป็นเสื้อผ้าที่เราใช้สวมใส่ ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ผ้าสีธรรมชาติที่บ้านไร่ไม้งามเป็นการผสมผสานหลักกระบวนการผลิตตามธรรมชาติป่าตะวันออก ผสมองค์ความรู้การผลิตแบบตะวันตก และการออกแบบจากผู้ผลิตที่มีสภาวะแวดล้อมสอดคล้องกับธรรมชาติบนยอดดอย นำผลผลิตสู่พื้นราบในชื่อ Sela มีความหมายว่า “ใบไม้” ในภาษาปกาเกอะญอ ใช้ใบสักเป็นสัญลักษณ์ เป็นงานออกแบบที่บ้าน ทำงานด้วยมือ ด้วยความรักธรรมชาติ บรรจงพิมพ์สีจากธรรมชาติลงบนผืนผ้า เพื่อผู้บริโภคที่รักธรรมชาติและสนใจในผลิตภัณฑ์แนวธรรมชาติ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และเผยแพร่ในสังคม สนใจเรียนรู้การพิมพ์ผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ สามารถติดต่อได้ที่ Sela Eco Leaf Printing บ้านไร่ไม้งาม เลขที่ 31หมู่ 9 ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองฯ จังหวัดตาก 63000 โทรศัพท์08 3330 9419 และ 09 8287 4575 เฟซบุ๊ก : SelaEcoPrintingt Post Views: 9,751 9/03/66 เวลา 10:02 น. บทความที่เกี่ยวข้อง พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองปง วัดอรัญญวาส โลหะปราสาทแห่งที่ 4 ของโลก สถาปัตยกรรมสีขาวที่ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเขาเหนือวัดอรัญญาวาส ในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่นั้นคือโลหะปราสาทแห่งที่ 2 ของไทย และแห่งที่ 4 ของโลก ลายทองเมืองเพชร งานโบราณที่ถักทอจากความช่ำชอง “ช่างที่ชำนาญคือช่างที่ทำซ้ำ ๆ หัดเป็นแล้วเป็นเลย คล้ายกับงานตัดเสื้อ พอเห็นแบบก็ทำได้เองโดยปริยาย” ตระการตาจิตรกรรม “ฝ้า” ผนัง วัดประดู่ พระอารามหลวง เมืองแม่กลอง จิตรกรรมบนผนังเพดานศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดประดู่ฯ นั้นเป็นจิตรกรรมไทยประเพณี วาดด้วยสีฝุ่น ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ว่าเขียนขึ้นในสมัยไหน